มะเร็งตับ

มะเร็งตับ คือ มะเร็งอะไร

  • มะเร็งตับ คือ โรคมะเร็งที่พบได้มากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโรคมะเร็งที่เกิดในผู้ชายไทย โดยมักพบในคนอายุ 30-70 ปี และพบได้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 2-3 เท่า เนื่องจากเพศชายมีปัจจัยเสี่ยงมากกว่าเพศหญิง โดยโรคมะเร็งตับในระยะแรกมักไม่แสดงอาการ โดยมะเร็งตับแบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่
  • มะเร็งตับชนิดปฐมภูมิเกิดจากเนื้อเยื่อของตับโดยตรง ซึ่งแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ มะเร็งเซลล์เนื้อเยื่อตับ และมะเร็งท่อน้ำดีของเนื้อตับ
  • มะเร็งตับชนิดที่สอง คือ มะเร็งตับชนิดทุติยภูมิเกิดจากการแพร่กระจายมาจากโรคมะเร็งชนิดอื่น เช่น โรคมะเร็งปอด โรคมะเร็งเต้านม

สาเหตุก่อให้เกิดโรคมะเร็งตับ

  1. ผู้ป่วยที่มีประวัติไวรัสตับอักเสบบีหรือซี
  2. ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากและเป็นประจำ
  3. ผู้ที่ได้รับสารอะฟลาท็อกซิน (Aflatoxin) หรือเชื้อราที่อยู่ในถั่วลิสงที่อับชื้น, พริกแห้ง, กระเทียม และหัวหอมเป็นต้น
  4. ผู้ที่มีภาวะไขมันพอกตับ
  5. ผู้ป่วยที่มีโรคตับแข็งจากสาเหตุใดก็ตาม เช่น ภาวะไขมันเกาะตับจนทำให้เกิดภาวะตับอักเสบ, กลุ่มโรคที่มีการอักเสบของท่อน้ำดีเรื้อรัง, หรือกลุ่มโรคพันธุกรรมที่ทำให้มีเหล็กพอกตับ
  6. ผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ
  7. โรคอ้วน เบาหวานและกลุ่มโรคเมตาบอลิก
  8. ติดเชื้อพยาธิใบไม้ในตับ ซึ่งเป็นพยาธิที่มีการปนเปื้อนอยู่ในอาหารประเภท ของหมักดอง ปลาร้า ปลาดิบ เนื้อดิบ ทำให้เสี่ยงเป็นโรคมะเร็งท่อน้ำดีของเนื้อตับ

มะเร็งตับอาการ มีอะไรบ้าง

  1. โรคมะเร็งตับระยะแรก ไม่แสดงอาการใด ๆ
  2. ร่างกายมีภาวะอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลดลง
  3. มีอาการจุกเสียดท้อง ท้องอืด
  4. อาการปวดชายโครงด้านขวา
  5. ตัวเหลือง ตาเหลือง
  6. ท้องโตขึ้น มีน้ำในช่องท้อง
  7. ขาบวม มีน้ำในเยื่อหุ้มปอด
  8. อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายดำ

ปัจจัย และความเสี่ยงโรคมะเร็งตับ

  • ปัจจัยและความเสี่ยงที่ก่อเกิดโรคมะเร็งตับที่พบบ่อยอันดับต้นๆ คือ “การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี” ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากติดต่อจากแม่มาสู่ลูก แต่ในประเทศที่พัฒนาแล้วพบว่าสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดมะเร็งตับ คือ “การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์”

โรคมะเร็งตับมีกี่ระยะ

  • ระยะที่1 (Early) และ ระยะที่ 2 (Intermediate) บางครั้งจะไม่แสดงอาการใดๆหรือแสดงอาการเพียงเล็กน้อย เช่น ปวดท้อง ท้องอืดบ้าง ทำให้ผู้ป่วยสับสนคิดว่าเป็นโรคกระเพาะอาหาร
  • ระยะที่ 3 (Advanced) และระยะที่ 4 (Terminal) อาการของตับมีปัญหา เช่น อาการตัวเหลือง ตาเหลือง มีภาวะท้องมานน้ำ เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน

วิธีการวินิจฉัยและการคัดกรองโรคมะเร็งตับ

การวินิจฉัยโรคมะเร็งตับ ดังนี้

  1. การซักประวัติ และการตรวจร่างกาย
  2. ตรวจเลือดเพื่อหาสารบ่งชี้มะเร็งตับ “แอลฟาฟีโตโปรตีน (AFP)”
  3. การถ่ายภาพรังสีเช่น U/S,CT, MRI
  4. การตรวจชิ้นเนื้อตรงตำแหน่งก้อนเนื้อ (Biopsy)

 

การคัดกรองโรคมะเร็งตับผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ดังนี้

  1. ผู้ป่วยโรคตับแข็ง จากสาเหตุใดๆ ก็ตาม
  2. ผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสชนิดบีหรือซี หรือผู้ที่เป็นพาหะของเชื้อไวรัสกลุ่มนี้
  3. ผู้ชายอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป และผู้หญิงอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป หรือมีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งตับจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็งตับ Alpha-fetoprotein (AFP) และตรวจอัลตราซาวนด์ตับเป็นทุกๆ 3-6 เดือน

วิธีการรักษาโรคมะเร็งตับ

  • หลักการรักษามะเร็งตับ คือ ถ้าอยู่ในระยะที่สามารถผ่าตัดเอาก้อนเนื้อออกได้ก็จะใช้วิธีการผ่าตัดหรือการปลูกถ่ายตับ แต่ถ้าอยู่ในระยะโรคที่ก้อนมีขนาดใหญ่มากหรือมีหลายๆ ก้อน เช่น 3-5 ก้อนขึ้นไป อาจจะต้องใช้วิธีการรักษาด้วยวิธีฉีดยาเคมีบำบัดเข้าทางเส้นเลือดหรือการรับประทานเคมีบำบัด หรือการรักษาตามอาการในผู้ป่วยระยะท้ายๆ
  • แต่ปัญหาที่มักเจอได้บ่อยๆ คือ คนทั่วไปมักจะไม่ให้ความสำคัญในการตรวจคัดกรอง โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมาพบแพทย์เมื่อมีอาการรุนแรงแล้ว เช่น ตัวเหลือง ตาเหลือง ท้องโตมาก มีน้ำในช่องท้อง ซึ่งอาการดังกล่าวจะอยู่ในระยะที่ไม่สามารถผ่าตัดได้แล้ว
  • ดังนั้นการตรวจคัดกรองโรคระบบทางเดินอาหารและตับเป็นสิ่งที่จำเป็น หากพบความผิดปกติเพียงเล็กน้อย เช่น เบื่ออาหาร รับประทานอาหารได้น้อย จุกชายโครงขวา ควรมาพบแพทย์เพื่อรับการตรวจคัดกรอง

การเตรียมตัวตรวจโรคมะเร็งตับ

  1. ผู้ป่วยต้องทำการเจาะเลือดเพื่อดูผลการทำงานของตับ การแข็งตัวของเลือด เกล็ดเลือด ภาวะการทำงานของไต ผลเลือดติดตามเนื้องอก(AFP)
  2. ผู้ป่วยได้รับการตรวจประเมินรอยโรคด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์(CT) , อัลตร้าซาวด์หรือเครื่องตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) และอาจมีการตรวจชิ้นเนื้อมาก่อน
  3. งดน้ำและอาหารอย่างน้อย 6 ชั่วโมงก่อนทำการตรวจ
  4. ผู้ป่วยจะได้รับการเตรียมตัวเพื่อทำความสะอาดโกนขนบริเวณขาหนีบที่จะใส่สายสวน
  5. ผู้ป่วยจะได้รับการให้สารละลายทางหลอดเลือดดำในวันที่ทำการตรวจ