มะเร็งผิวหนัง

มะเร็งผิวหนัง คือ มะเร็งอะไร

มะเร็งผิวหนัง คือการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ที่บริเวณผิวหนังและเยื่อบุจนกลายเป็นเนื้อร้าย มะเร็งผิวหนังมีหลายชนิด ชนิดที่พบบ่อย คือ เบเซลเซลล์ basal cell carcinoma, สเควมัสเซลล์ squamous cell carcinoma และ เมลาโนมา melanoma

สาเหตุก่อให้เกิดโรคมะเร็งผิวหนัง

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดโรค แต่พบว่ามีปัจจัยเสี่ยง ดังนี้

 

  1. แสงแดด มะเร็งผิวหนังมัก เกิดบริเวณที่โดนแดดจัดเป็นเวลานาน ผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง ชอบอาบแดดหรือมีประวัติถูกผิวไหม้แดด
  2. เชื้อชาติ คนผิวขาว ผมสีบรอนซ์ เพราะมีเม็ดสีผิวน้อยกว่า ทำให้ความสามารถในการป้องกันเซลล์ผิวหนังจากแสงอัลตราไวโอเลตจึงมีน้อย
  3. ผู้มีภาวะภูมิคุ้มกันต้านทานของร่างกายบกพร่อง เช่น HIV หรือโรคเอดส์ การได้รับยากดภูมิคุ้มกัน
  4. การสูบบุหรี่เป็นเวลานาน
  5. มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งผิวหนัง
  6. มีประวัติถูกสารเคมี เช่น สารหนู หรือสัมผัสสารเคมีเป็นเวลานานๆ
  7. ผิวหนังเคยได้รับการฉายรังสี

อาการโรคมะเร็งผิวหนัง มีอะไรบ้าง 

โรคมะเร็งผิวหนังมีอาการที่เกิดขึ้นบริเวณผิวหนัง สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า และสามารถเกิดได้ทั่วร่างกาย อาการของมะเร็งผิวหนังจะแตกต่างกันตามชนิดของมะเร็งผิวหนังดังนี้

 

 

สามารถมีหลายสีได้ ตั้งแต่สีดำ แดง ชมพู น้ำตาล เทา โดยสีของมะเร็งผิวหนังจะกระจายบนก้อนไม่สม่ำเสมอกัน เป็นชนิดที่พบได้น้อยที่สุด แต่มีความรุนแรงสูง เพราะมีโอกาสแพร่กระจายไปเนื้อเยื่อข้างเคียงและที่อื่น ๆได้มากกว่าชนิดอื่นเข้าสู่กระแสเลือดได้สูงและรวดเร็ว หากไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ภายใน 3-6 เดือน

โรคมะเร็งผิวหนังมีกี่ระยะ

ระยะของโรคมะเร็งผิวหนังชนิดไม่ใช่เมลาโนมา

  • ระยะที่ 1 รอยโรคมีขนาดโตไม่เกิน 2 เซนติเมตร (อัตราการรอดชีวิตที่ 5 ปี ภายหลังการรักษา คือ ประมาณ 90-100%)
  • ระยะที่ 2 รอยโรคมีขนาดโตเกิน 2 เซนติเมตร หรือมีขนาดใดก็ได้แต่เป็นเซลล์มะเร็งชนิดที่มีการแบ่งตัวสูงหรือลุกลามลงลึกใต้ผิวหนัง (อัตราการรอดชีวิตที่ 5 ปี ภายหลังการรักษา คือ ประมาณ 70-80%)
  • ระยะที่ 3 โรคลุกลามเข้าเนื้อเยื่ออื่นที่อยู่ติดผิวหนัง หรือลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้เคียงเพียง 1 ต่อมและต่อมมีขนาดโตไม่เกิน 3 เซนติเมตร (อัตราการรอดชีวิตที่ 5 ปี ภายหลังการรักษา คือ ประมาณ 50%)
  • ระยะที่ 4 รอยโรคลุกลามเข้ากระดูก หรือเส้นประสาท หรือเข้าต่อมน้ำเหลืองมากกว่า 1 ต่อม หรือต่อมน้ำเหลืองมากกว่า 3 เซนติเมตร หรือโรคแพร่กระจายเข้ากระแสเลือด ซึ่งเมื่อแพร่กระจายมักแพร่กระจายเข้าสู่ปอด (อัตราการรอดชีวิตที่ 5 ปี ภายหลังการรักษา คือ ประมาณ 0-30%)

ระยะของโรคมะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา

  • ระยะที่ 1 รอยโรคมีขนาดความลึก 0-1 มิลลิเมตร (อัตราการรอดชีวิตที่ 5 ปี ภายหลังการรักษา คือ ประมาณ 75-80%)
  • ระยะที่ 2 รอยโรคมีขนาดความลึกตั้งแต่ 1 มิลลิเมตรขึ้นไป (อัตราการรอดชีวิตที่ 5 ปี ภายหลังการรักษา คือ ประมาณ 40-70%)
  • ระยะที่ 3 โรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง (อัตราการรอดชีวิตที่ 5 ปี ภายหลังการรักษา คือ ประมาณ 30-40%)
  • ระยะที่ 4 โรคแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือด ซึ่งเมื่อแพร่กระจายมักจะแพร่กระจายเข้าสู่ปอด กระดูก และสมอง (อัตราการรอดชีวิตที่ 5 ปี ภายหลังการรักษา คือ ประมาณ 0-10%)

วิธีการคัดกรองโรคมะเร็งผิวหนัง

  • แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคมะเร็งผิวหนังได้จากประวัติ และปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ของผู้ป่วย การตรวจลักษณะของรอยโรค สี ขนาด และรูปร่างของผิวที่ผิดปกติ การตรวจคลำต่อมน้ำเหลือง
  • ส่วนการตรวจวินิจฉัยที่ให้ผลแน่นอน คือ การตัดชิ้นเนื้อจากรอยโรค (Skin Biopsy) ก้อนเนื้อ แผล หรือไฝ เพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา ซึ่งอาจตัดบางส่วนหรือตัดทั้งก้อนก็ได้

 

การตรวจเบื้องต้นมีหลายวิธี ได้แก่

การตรวจประเมินมะเร็งผิวหนังระยะเริ่มต้น เนื่องจากการรักษามะเร็งผิวหนังจะได้ผลดีและหายขาดเมื่อตรวจพบตั้งแต่แรกเริ่ม ดังนั้น ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงดังที่กล่าวไปควรสำรวจร่างกายของตนเองให้ทั่วเป็นระยะ ซึ่งจะต้องใช้กระจกตั้งและกระจกมือช่วย โดยมีขั้นตอนการตรวจดังนี้

  1. ให้ยืนหน้ากระจกแล้วส่องข้างหน้า ข้างหลัง ด้านข้างทั้งซ้ายและขวา และยกแขนขึ้น
  2. ตรวจดูที่แขน รักแร้ มือ หลังมือ และข้อศอก
  3. ตรวจดูที่ต้นขาด้านหน้าและหลัง น่อง หน้าแข้ง เข่า หลังเท้า และซอกนิ้ว
  4. ตรวจดูที่คอด้านหน้าและด้านหลัง หนังศีรษะ และไรผม
  5. ตรวจดูที่หลัง (อาจสังเกตจากการใช้หลัก ABCDE)
  • A: Asymmetry ความไม่สมมาตรของรอยโรคผิวหนังในแต่ละด้าน
  • B: Border irregular ลักษณะขอบของรอยโรคผิวหนัง ขอบไม่เรียบ ไม่คมชัด
  • C: Color multiple สีของรอยโรคไม่สม่ำเสมอ มีการเปลี่ยนสี
  • D: Diameter > 6 mm. or Ugly duckling ลักษณะโครงสร้างของรอยโรคผิวหนังขนาดใหญ่กว่า 6 มิลลิเมตร
  • E: Evolution in last 3 months มีการเปลี่ยนแปลงขนาดและรูปร่างในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา

วิธีการรักษาโรคมะเร็งผิวหนัง

  1. การขูดออกและจี้ด้วยไฟฟ้า เหมาะกับก้อนเนื้อมะเร็งค่อนข้างเล็ก โดยจะคว้านบริเวณที่เป็นเนื้อร้ายออก จากนั้นจะนำกระแสไฟฟ้ามาจี้ที่เนื้อเยื่อโดยรอบ วิธีนี้อาจต้องทำติดต่อกัน 2 - 3 ครั้ง จึงจะสามารถนำเนื้อร้ายออกได้หมด
  2. การรักษาด้วยการจี้เย็น มักจะใช้กับมะเร็งผิวหนังในระยะเริ่มต้น โดยจะนำไนโตรเจนเหลวมาจี้ผิวหนังบริเวณที่เป็นมะเร็ง ผิวหนังบริเวณนั้นจะตกสะเก็ด หลังจากนั้นประมาณ 1 เดือนสะเก็ดเหล่านั้นจะหลุดออก
  3. การผ่าตัดผิวหนัง เป็นการผ่าตัดแบบมาตรฐานโดยจะทำการผ่าตัดก้อนเนื้อมะเร็งที่อยู่บริเวณผิวหนังและเนื้อเยื่อโดยรอบออก หากบริเวณที่ผ่าตัดออกมีขนาดใหญ่ อาจนำผิวหนังจากส่วนอื่นมาปิดบริเวณแผลเพื่อทำให้แผลหายเร็วขึ้น และจะทำให้รอยแผลเป็นน้อยลงได้

ส่วนในรายที่เป็นบริเวณกว้างหรืออยู่ในที่ที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ หรือมะเร็งแพร่กระจายไปส่วนอื่นหรือเป็นมะเร็ง ผิวหนังชนิดเมลาโนมา (Melanoma) ที่มีการแพร่กระจายไปแล้ว แพทย์จะให้รักษาด้วยรังสี รักษาร่วมกับยาเคมีบำบัด ซึ่งผลการรักษาส่วนใหญ่มักจะได้ผลดีและหายขาดได้

การป้องกันโรคมะเร็งผิวหนัง

  • การหลีกเลี่ยงแสงแดดจัด ๆ ไม่ตากแดดเป็นเวลานาน โดยเฉพาะช่วงเวลาประมาณ 10:00-15:00 นาฬิกา ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่แสงแดดแผ่รังสีสูงสุด แต่ถ้าจำเป็นควรสวมเสื้อปกปิดเพื่อป้องกันแสงแดด และการทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF 50 ขึ้นไป และค่า PA+++ เป็นตัวช่วยป้องกันที่ดีที่สุด
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารพิษ หรือสารเคมีก่อมะเร็งเรื้อรัง เช่น การสัมผัสสารหนูที่ปนอยู่ในน้ำ รวมไปถึงการกินยาจีน ยาไทย ยาหม้อ เพราะอาจมีสารหนูซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งผสมอยู่
  • ไม่ควรกินหมากหรือสูบบุหรี่ พยายามรักษาความสะอาดของช่องปากและฟันอยู่เสมอ ระวังไม่ให้ฟันผุหรือฟันแหลมซึ่งอาจเกิดการเสียดสีกับช่องปากเกิดเป็นแผลเรื้อรังแล้วอาจกลายเป็นมะเร็งได้
  • รักษาความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศไม่ให้เกิดการหมักหมม
  • ป้องกันไม่ให้เกิดโรคที่ทำให้ภูมิคุ้มกันต้านทานของร่างกายบกพร่อง เช่นการติดเชื้อไวรัสเอชไอวีหรือโรคเอดส์
  • หมั่นตรวจดูผิวหนังทั่วร่างกายเป็นระยะ สังเกตสิ่งผิดปกติ เช่น หูด ไฝ ขี้แมลงวัน ปาน แผลเป็น ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากปกติ (เช่น โตเร็วกว่าปกติ มีสีและรูปร่างเปลี่ยนไปจากเดิม มีอาการคัน แตกเป็นแผล และมีเลือดออก) หรือมีแผลเรื้อรังหรือแผลที่ไม่หายภายใน 4 สัปดาห์ หรือเมื่อมีความกังวลเมื่อพบรอยโรคดังกล่าว ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาที่เหมาะสมตั้งแต่เนิ่น ๆ
  • ผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งผิวหนัง ทำงานกลางแดด ควรมาพบแพทย์เพื่อตรวจหามะเร็งผิวหนังตั้งแต่ระยะแรกอย่างน้อยปีละครั้ง