โรคมะเร็งตับอ่อน

มะเร็งตับอ่อน คือ มะเร็งอะไร

การเกิดมะเร็งตับอ่อนในประเทศไทย พบว่า มีประมาณ 1% ของมะเร็งทางเดินอาหาร พบมากในเพศชายมากกว่าเพศหญิงประมาณ 4 เท่า อายุที่พบเฉลี่ย 40-70 ปี เป็นมะเร็งที่พบได้ไม่บ่อยนัก แต่เนื่องจากตับอ่อนเป็นอวัยวะที่อยู่หลังเยื่อบุช่องท้องการตรวจวินิจฉัยค่อนข้างยาก และอาการจะปรากฎเมื่อมะเร็งมักจะลุกลามมากแล้ว (สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข)

ซึ่งมะเร็งตับอ่อนมีหลายชนิด ส่วนใหญ่จะเป็นชนิดที่เกิดจากเซลล์ท่อตับอ่อน (Ductal Adenocarcinoma) โดยมีส่วนน้อยที่เกิดจากเซลล์ที่สร้างฮอร์โมนต่างๆ หรือบางชนิดมีลักษณะเป็นถุงน้ำ

มะเร็งตับอ่อนเกิดจากอะไร

สาเหตุของมะเร็งชนิดนี้ไม่ทราบแน่ชัดแต่เนื้องอกในตับอ่อนบางชนิดอาจกลายเป็นมะเร็งได้ ปัจจัยบางอย่างที่เชื่อว่าอาจทำให้เกิด มะเร็งตับอ่อนได้ คือ บุหรี่และโรคเบาหวาน

 

มะเร็งตับอ่อนพบได้มากขึ้นในผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 45 ปีขึ้นไป เจอได้ในอัตราส่วนประชากร 14.8 : 100,000 (2) คน ซึ่งเป็นอัตราส่วนที่ต่ำมาก ดังนั้นเมื่อผู้ป่วยมีอาการตาเหลือง ตัวเหลือง อ่อนเพลีย น้ำหนักลด จึงควรนึกถึงโรคอื่นที่พบได้บ่อยกว่าร่วมด้วยเสมอ เช่น โรคตับแข็ง โรคตับอักเสบจากสาเหตุต่าง ๆ โรคมะเร็งตับหรือโรคที่มีอาการอุดตันท่อน้ำดีอื่น ๆ เช่น นิ่วในท่อน้ำดี มะเร็งท่อน้ำดี เป็นต้น

อย่างไรก็ตามมะเร็งตับอ่อนมีโอกาสเป็นมากขึ้นในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งเต้านมที่มียีนทีกระตุ้นให้เกิดมะเร็งเต้านม (BRCA Genes) ผู้ป่วยที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคมะเร็งตับอ่อน การสูบบุหรี่ การกินเนื้อสัตว์ และอาหารมันเป็นปริมาณมาก

อาการมะเร็งตับอ่อน

ในระยะเริ่มแรกอาจไม่มีอาการ มักเกิดอาการเมื่อลุกลามแล้ว เช่น

 

1. ปวดท้องใต้ลิ้นปี่เหมือนโดนมีดแทงและร้าวไปข้างหลัง

2. ตัวเหลือง

3. ตาเหลือง

4. เบื่ออาหาร น้ำหนักลด

5. ตับโต

 

อาการของโรคมะเร็งตับอ่อนจึงแบ่งตามตำแหน่งที่เกิด ดังนี้

 

1. ก้อนที่อยู่บริเวณหัวตับอ่อน เนื่องจากบริเวณหัวตับอ่อนจะเป็นทางผ่านของท่อทางเดินน้ำดี ดังนั้นผู้ป่วยจะมีอาการของการระบายน้ำดีออกไม่ได้และมีน้ำดีคลั่งในกระแสเลือด ทำให้เกิดอาการตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะสีเข้ม อ่อนเพลีย กินได้น้อย น้ำหนักลด ถ่ายอุจจาระเป็นมัน เนื่องจากไม่สามารถย่อยไขมันได้ ในช่วงแรกอาจไม่มีอาการปวดท้องต่อมาอาจมีอาการปวดท้องจากก้อนเนื้อลุกลามเข้าไปบริเวณเส้นประสาท บางรายอาจมีอาการอาเจียนมาก เนื่องจากก้อนเนื้อมีขนาดใหญ่มากไปกดเบียดลำไส้เล็กส่วนต้น ทำให้อาหารผ่านไม่ได้

 

2. ก้อนที่อยู่บริเวณตัวและหางตับอ่อน เนื่องจากส่วนนี้ไม่ได้อยู่ใกล้ท่อน้ำดี ในระยะแรกผู้ป่วยจึงมักไม่มีอาการ แต่จะเริ่มมีอาการเมื่อก้อนมีขนาดใหญ่หรือมีการกระจายของโรคแล้ว โดยผู้ป่วยจะมีอาการ เช่น อ่อนเพลีย กินได้น้อย น้ำหนักลด ปวดท้องจากก้อนไปเบียดเส้นประสาท ท้องมานจากการที่มีมะเร็งกระจายไปที่เยื่อบุช่องท้อง

โรคมะเร็งตับอ่อนมีกี่ระยะ

โดยใช้วิธีการแบ่งตาม American Joint Committee on Cancer (AJCC) ปี 2002 โดยจัดแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

1. ผ่าตัดได้

2. ระยะรุนแรงขึ้นแต่ยังอยู่เฉพาะที่

3. ระยะแพร่กระจาย

 

ในกรณีผ่าตัดได้คือ

1. ไม่มีการกระจายของมะเร็ง

2. ก้อนมะเร็งไม่โอบรอบเส้นเลือดแดง Celiac หรือ superior mesenteric

3. ก้อนมะเร็งไม่โอบรอบเส้นเลือดดำ superior mesenteric และ portal

 

โรคมะเร็งตับอ่อนอยู่ได้นานแค่ไหน

จากการวิเคราะห์ผลการรักษาได้ พบว่ามัธยฐานเวลาการรอดชีวิตเท่ากับ 9 เดือน อัตราการรอดชีวิตที่ 1.5 ปี เท่ากับ 9%

(CHULA CANCER รังสีรักษาและมะเร็งวิทยา)

การคัดกรอง/การวินิจฉัยโรคมะเร็งตับอ่อน

การวินิจฉัยโรคมะเร็งตับอ่อนด้วยการตรวจเลือด

 

1. CT scan (Computerized Tomography Scan) แบบ Helical CT และการฉีดสารทึบรังสี สามารถตรวจพบก้อนมะเร็งซึ่งมีขนาดเล็ก ๆ เนื่องจากเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์จะหมุนเป็นวงอยางต่อเนื่องรอบตัวผู้ป่วย เมื่อรังสีเอกซเรย์ผ่านตัวผู้ป่วยจะได้ภาพหลายภาพ ซึ่งใช้เวลาน้อยกว่าแบบพื้นฐาน และได้ภาพที่มีความแม่นยำสูงกว่า

 

2. กาารฉีดรังสีร่วมกับ CT scan ยังสามารถบอกว่าก้อนมะเร็งติดหรือลุกลามเข้าไปในหลอดเลือดหรือไม่

 

3. การใช้ CT - GuidedFineNeedle Aspiration (FNA) สามารถช่วยในการพิสูจน์เซลล์มะเร็งได้ แต่วิธีการนี้ต้องอาศัยความชำนาญ ของแพทย์ทางรังสีร่วมรักษา (Interventional Radiologist)

 

4. การพิสูจน์ชิ้นเนื้อที่มีประสิทธิภาพคือการตัดชิ้นเนื้อผ่าน endoscope (ERCP - Endoscopic Retrograde Cholangiopancreaticography) วิธีนี้ยังสามารถช่วยให้ได้ภาพทางรังสี ซึ่งแสดงถึงการอุดตันของท่อน้ำดี และท่อตับอ่อน

วิธีการรักษาโรคมะเร็งตับอ่อน

การผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออกเป็นวิธีการรักษาที่ดีที่สุด ซึ่งทำได้ในกรณีที่ตรวจพบเร็วและมะเร็งยังไม่แพร่กระจาย หลายครั้งที่กว่าจะพบ ผู้ป่วยก็เป็นมากแล้วคืออยู่ในระยะที่ไม่สามารถผ่าตัดได้และมีอัตราการรอดชีวิตต่ำ

 

ดังนั้นแพทย์จะแนะนำให้ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ อาจจะทุก 6 เดือน หรือ 1 ปีในช่วงท้ายการเจ็บป่วยนั้น บางครั้งอาจยังไม่ทราบสาเหตุและไม่มีอาการบ่งชี้เฉพาะ อย่านิ่งนอนใจหากคุณอยู่ในกลุ่มเสี่ยงเพราะเรื่องของสุขภาพนั้นประมาทไม่ได้

การเตรียมตัวตรวจคัดกรองมะเร็งตับอ่อน

  • CT scan งดน้ำงดอาหาร 4 ชม.ก่อนการตรวจ
  • ส่องกล้อง ERCP เพื่อตัดชิ้นเนื้อ งดน้ำงดอาหาร 8 ชม.